วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มะเร็งปากมดลูก


โรคมะเร็งปากมดลูก


มะเร็งปากมดลูกคืออะไร (http://www.chulacancer.net)

          มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของปากมดลูก ปากมดลูกเป็นส่วนล่างของมดลูก ซึ่งมดลูกเป็นอวัยวะรูปลูกแพร์คว่ำที่มีช่องว่างอยู่ข้างใน ช่องข้างในมดลูกนั้นเป็นบริเวณที่อยู่ของเด็กทารกในขณะตั้งครรภ์ ปากมดลูกนั้นมีรูตรงกลางซึ่งเชื่อมระหว่างช่องว่างข้างในมดลูกกับช่องคลอดมะเร็งปากมดลูกตามปกติจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น เซลล์ของปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ดีสเพลเชีย (Dysplasia) หลังจากนั้นเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์มะเร็งนี้จะโตขึ้นและขยายลึกลงสู่ปากมดลูกและบริเวณรอบๆปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก (http://www.rtcog.or.th)

1. ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง
- การมีคู่นอนหลายคน ความเสี่ยงสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น
- การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ปากมดลูกมาก ช่วงนี้จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมากโดยเฉพาะเชื้อเอชพีวี
- การตั้งครรภ์และการคลอดลูก จำนวนครั้งของการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น
- มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ ถ้านานกว่า 5 ปี และ 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูง
- ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน

2. ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย
          เนื่องจากส่วนใหญ่ของการติดเชื้อเอชพีวีบริเวณอวัยวะเพศได้มาจากการมีเพศสัมพันธ์ จึง กล่าวได้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวี (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชายได้แก่
- สตรีที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ
- สตรีที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
- ผู้ชายที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อย
- ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
- การสูบบุหรี่
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ และการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ

อาการของมะเร็งปากมดลูก

1. การตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็น
- เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
- เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีน้ำออกปนเลือด
- ตกขาวปนเลือด
- เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
2. อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น ได้แก่
- ขาบวม
- ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

ระยะของมะเร็งปากมดลูก (ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์)
1. ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งด้วยการทำแปปสเมียร์ โดยการเก็บเอาเซลล์เยื่อบุบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยการตรวจภายใน ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมากหากเป็นมะเร็งที่ตรวจพบในระยะแรก มะเร็งในระยะนี้ยังอยู่ภายในช่องเยื่อบุผิวปากมดลูก ไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อปากมดลูก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเลย
2. ระยะลุกลาม แบ่งออกเป็น 4 ระยะย่อย คือ
- ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่ภายในปากมดลูก
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และ / หรือผนังช่องคลอดส่วน
บน
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างของเชิงกราน และ / หรือผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก และต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน เป็นต้

การตรวจเพื่อการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก (www.chulacancer.net)

- การตรวจภายใน (Pelvic exam) เป็นการตรวจช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือหนึ่งหรือสองนิ้วของมือข้างหนึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นด้วยน้ำยาหล่อลื่นสอดเข้าในช่องคลอด และวางมืออีกข้างหนึ่งที่บริเวณท้องน้อยของผู้ป่วยเพื่อจะได้รู้ถึงขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของมดลูกและรังไข่และยังมีการตรวจอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้เครื่องมือซึ่งเรียกว่า สเปคคูลัม (Speculum) ซึ่งเป็นเหล็กที่มีรูปร่างคล้ายปากเป็ด สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิดปกติของช่องคลอดและปากมดลูก โดยอาจจะทำการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก โดยการทำแป๊บในขณะใส่เครื่องมือนี้ด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการตรวจทางทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือซึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นแล้ว สอดเข้าในทวารหนัก เพื่อตรวจหาก้อนหรือบริเวณที่ผิดปกติได้
- การตรวจคอลโปสโคป ( Colposcopy ) เป็นการตรวจปากมดลูกและช่องคลอดโดยการส่องกล้องขยาย ตรวจหาบริเวณที่ผิดปกติจากนั้นอาจจะมีการเก็บเนื้อเยื่อไปตรวจโดยการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายช้อนเล็กๆขูดบริเวณที่ผิดปกติ แล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติต่อไป
- การขูดเนื้อเยื่อบริเวณด้านในของปากมดลูก (Endocervical curettage) เป็นการใช้อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้อนอันเล็กๆ ขูดเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ในรูของปากมดลูก จากนั้นเนื้อเยื่อตัวอย่างที่ได้จากการขูดออกมานั้นจะถูกส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็งการขูดมดลูกนี้ ในบางครั้งอาจทำพร้อมกันกับการตรวจคอลโปสโคปด้วย
- การตัดชิ้นเนื้อ ( Biopsy ) เป็นการตัดชิ้นส่วนเล็กๆของเนื้อเยื่อออกมาจากปากมดลูกที่ผิดปกติ จากนั้นพยาธิแพทย์จะนำมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง โดยปกติจะทำการตัดชิ้นเนื้อเมื่อมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกโดยการทำแป๊บแล้วผิดปกติ การตัดชิ้นเนื้อในบางรายอาจทำเป็นการตัดชิ้นเนื้อรูปโคน ( Cone biopsy ) ซึ่งจะได้ชิ้นเนื้อจากปากมดลูกขนาดใหญ่กว่า


การรักษามะเร็งปากมดลูก

          ทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้นมีแตกต่างกันหลายวิธี บางวิธีเป็นที่ใช้กันทั่วไป และยอมรับจากสถาบันทั่วโลกและบางวิธียังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง ซึ่งการศึกษาทดลองนั้นมีส่วนช่วยในการปรับปรุงการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเพื่อให้พบวิธีการรักษาแบบใหม่เมื่อการศึกษาทดลองแสดงว่าการรักษาใหม่ดีกว่าการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การรักษาใหม่นั้นอาจจะกลายเป็นการรักษาที่ยอมรับและใช้เป็นมาตรฐานการรักษาในเวลาต่อมา ถ้าเป็นไปได้ ผู้ป่วยน่าจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองเพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ในบางการศึกษาทดลองนั้นจะเปิดรับเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่เริ่มการรักษาเท่านั้น


การรักษาที่เป็นมาตรฐานมี 3 วิธี คือ


1. การผ่าตัด
          การผ่าตัด คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกาย การผ่าตัดในมะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี ดังนี้
          1) การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปโคน ( Conization ) เป็นการตัดส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อของปากมดลูกและช่องภายในปากมดลูกออกเป็นรูปโคน หลังจากนั้นพยาธิแพทย์จะนำเนื้อเยื่อที่ได้มาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดออกเป็นรูปโคนนี้อาจ จะใช้ในการวินิจฉัยหรือการรักษามะเร็งปากมดลูกก็ได้ การผ่าตัดวิธีนี้อาจะเรียกว่าการตัดชิ้นเนื้อรูปโคน (Cone biopsy)
          2) การผ่าตัดมดลูก ( Total hysterectomy ) เป็นการผ่าตัดมดลูกรวมทั้งปากมดลูกออกจากร่างกาย ถ้ามดลูกและปากมดลูก ถูกตัดออกโดยใช้เครื่องมือผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดจะเรียกการผ่าตัดนั้น ว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านช่องคลอด (Vaginal hysterectomy)ถ้าผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกผ่านทางหน้าท้องซึ่งจะมีรอยแผลที่หน้าท้องขนาดใหญ่ จะเรียกการผ่าตัดนั้นว่า การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง (Total abdominal hysterectomy) แต่ถ้าผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกโดยใช้กล้องเล็กๆผ่านทางรอยผ่าตัดเล็กๆ ที่หน้าท้อง จะเรียกการผ่าตัดนี้ว่า การผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้อง (Total laparoscopic hysterectomy)
          3) การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ( Bilateral salpingo-oophorectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อตัดเอารังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก
          4) การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก ( Radical hysterectomy ) เป็นการผ่าตัดเพื่อตัด มดลูก ปากมดลูก และส่วนหนึ่งของช่องคลอดออกจากร่างกาย นอกจากนี้รังไข่ ท่อนำไข่ หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ อาจถูกผ่าตัดออกไปด้วยเช่นกัน
          5) การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic exenteration) เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ทวารหนัก และกระเพาะปัสสาวะออก การผ่าตัดนี้ในผู้หญิงนั้นจะตัดเอาปากมดลูก ช่องคลอด รังไข่ และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆออกไปด้วยเช่นกัน ช่องทางที่จะใช้เพื่อขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระจะถูกสร้างขึ้นเพื่อนำของเสียออกจากร่างกายไปยังถุงเก็บ นอกจากนี้หลังจากการผ่าตัดนี้อาจมีการผ่าตัดเพื่อจะสร้างช่องคลอดขึ้นมาใหม่ด้วย
          6) การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้ความเย็น ( Cryosurgery ) เป็นการรักษาที่ใช้อุปกรณ์ที่แช่แข็งนำไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติใช้ในระยะที่พบว่ามีเซลล์ผิดปกติแต่ยังไม่เป็นมะเร็ง ( Carcinoma in situ )
          7) การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Laser surgery ) เป็นการผ่าตัดที่ใช้แสงเลเซอร์เป็นมีด เพื่อทำให้มีเลือดออกน้อย หรือใช้ตัดเอาเฉพาะส่วนพื้นผิวของก้อน
          8) การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้วงขดลวดที่มีกระแสไฟฟ้า ( LEEP ) เป็นการรักษาที่ใช้วงของลวดเส้นเล็กๆที่มีกระแสไฟฟ้าผ่านอยู่ภายในเป็นเหมือนมีด ใช้ตัดส่วนของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือเนื้อเยื่อมะเร็งออก
2. การรักษาโดยการฉายรังสี
          การรักษาโดยการฉายรังสี เป็นการรักษามะเร็งที่ใช้รังสีเอ็กซเรย์พลังงานสูง หรือรังสีชนิดอื่นๆ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือทำให้หยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีมี 2 ชนิด ได้แก่
          1) การฉายรังสีจากภายนอก ( External radiation therapy ) เป็นการใช้เครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกายส่งรังสีเข้าในร่างกายผ่านก้อนมะเร็ง
          2) การฉายรังสีจากภายใน หรือ การใส่แร่ ( Internal radiation therapy ) เป็นการใช้สารที่ปล่อยรังสีได้ซึ่งอยู่ภายในเข็ม ก้อนเล็กๆ ขดลวด หรือท่อ ใส่เข้าไปภายในหรือใกล้ๆบริเวณของก้อนมะเร็งโดยตรงการเลือกวิธีที่ใช้ในการฉายรังสีนั้นขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็งที่จะรักษา
3. การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด
          การรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษามะเร็งที่ใช้ยาในการหยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง หรือทั้งทำลายเซลล์มะเร็งและหยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง  เมื่อรับประทานยาเคมีบำบัดหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าในหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ยาจะเข้าไปในกระแสเลือดและไปมีผลกับเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย (Systemic chemotherapy)


การป้องกันมะเร็งปากมดลูก (รองศาสตราจารย์นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์)


การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. การป้องกันปฐมภูมิ คือ การป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการได้รับสารก่อมะเร็ง การลดหรือขจัดสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก หรือการทำให้ร่างกายสามารถต่อต้านสาร
ก่อมะเร็ง การป้องกันปฐมภูมิสำหรับมะเร็งปากมดลูกได้แก่
- การหลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
- การคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย
- การหลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวี
- การงดสูบบุหรี่
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี จะมีการนำมาใช้ในอนาคต
2. การป้องกันทุติยภูมิ คือ การค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่มซึ่งการรักษาได้ผลดีสำหรับมะเร็งปากมดลูกแล้ว สามารถตรวจคัดกรองได้โดย
2.1 การทดสอบแพปหรือแพปสเมียร์ ซึ่งมี 2 วิธีคือ
- แบบสามัญ
- แบบแผ่นบาง
2.2 การตรวจหาเชื้อเอชพีวี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถตรวจหาเชื้อชนิดก่อมะเร็งได้แล้ว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ในประเทศไทย
3. การป้องกันตติยภูมิ คือ การรักษาโรคมะเร็ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง มีชีวิตรอดยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


สรุป


          สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งโดยการทะแพปสเมียร์ ซึ่งการรักษาได้ผลดีมาก อาการที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามคือ การตกเลือดทางช่องท้อง วิธีการรักษาขึ้นกับมะเร็งปากมดลูก ในระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลามสามารถรักษาได้หลายวิธีโดยไม่จำเป็นต้องตัดมดลูกออก ในระยะลุกลามสามารถรักษาด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุกๆ 1 ปี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น