วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นิ่ว วิธีการรักษา และการป้องกัน


                                                นายนิติกร  ชัยวัง รหัสนิสิต 5305110014
นิ่ว วิธีการรักษา และการป้องกัน



        โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบกันมากในสมัยโบราณ ดังเช่นที่มีหลักฐานตรวจพบก้อนนิ่วในปัสสาวะของมัมมี่ ซึ่งมีอายุกว่า 7,000 ปีในประเทศอียีปต์ ที่ผ่านมานี้มีบุคคลสำคัญของโลกหลายท่านป่วยเป็นโรคนิ่ว (เช่น เบนจามิน แฟรงคลิน ไอแซคนิวตัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นต้น)
         จากอดีตจนถึงปัจจุบันโรคนิ่ว ยังเป็นกันแพร่หลายทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วมักเป็นโรคนิ่วที่ไต ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบน้อยลงมาก ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ปัจจุบันพบนิ่วในไตมากขึ้นเรื่อย ๆ คือประมาณร้อยละ 63 ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ขณะเดียวกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะก็ยังพบอยู่มากเช่นกัน คือประมาณร้อยละ 37 แนวโน้มและสภาพปัญหา ในขณะนี้จึงแตกต่างไปจาก 15 30 ปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนั้นพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ คือ มากกว่าร้อยละ 80
          ในอดีตประมาณ 15-30 ปีที่แล้ว คนไทยเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะกันมากต่างจากปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะเป็นนิ่วในไตและท่อไตสูงมากขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
           คำตอบนี้เป็นปรากฏการณ์ และอุทาหรณ์ที่นำมาสนทนากันอยู่เสมอในวงการแพทย์ทั้งในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในระหว่างสองศตวรรษที่แล้วมาเคยพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะบ่อย ปัจจุบันสูญหายไป
            ประเทศญี่ปุ่นพบมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากการศึกษาวิจัยถึงปัญหาโรคนิ่วโดย โยชิตะ ในปี พ.ศ. 2522 พบว่า ชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วงปี พ.ศ. 2488 ยังเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะกันมาก แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2513 พบว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นนิ่วในไตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่าตัว และพบอัตราผู้ป่วยเป็นนิ่วในไตมีอยู่ประมาณร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมด ในปัจจุบันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะลดลงจนแทบจะไม่เห็นอีกเลย




            เมื่อลองพิจารณาดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลก การพัฒนาประเทศได้นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนสภาพเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นซึ่งมีอาหารหลักคือข้าว ได้เริ่มดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มของการกินอาหารเทียบเท่าประเทศพัฒนาในยุโรปและอเมริกาเหนือ ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบแนวโน้มของกากินอาหารของชาวญี่ปุ่นในเวลาเดียวกัน พบว่ามีการกินอาหารในกลุ่มโปรตีนและไขมันในปริมาณสูงมาก และเมื่อพิจารณาชนิดของอาหารพบว่ามีการกินนม เนย เนื้อสัตว์มากขึ้นกว่าในอดีต พฤติกรรมในการกินอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่มากกว่าปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตเพิ่มมากขึ้น ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะลดลง ประเทศไทยในระยะหลังนี้ เริ่มเปลี่ยนเป็นประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ปัญหาทุโภชนาการลดลง พฤติกรรมการกินอาหารคงจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แนวโน้มการเกิดโรคนิ่วในไตจึงสูงมากขึ้นตามลำดับ และคงจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น ในอนาคตถ้าไม่มีมาตรการที่จะป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ

 

ท่านทราบไหมว่า นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะอยู่ตรงไหน ?

           ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยไตสองข้าง ซึ่งทำหน้าที่สร้างปัสสาวะโดยจะกรองและขับสารหลายชนิดรวมทั้งเกลือแร่บางอย่างที่ร่างกายไม่ต้องการ หรือมีปริมาณมากเกินไปออกมาในน้ำปัสสาวะ ซึ่งเมื่อออกจากท่อหน่วยกรองเล็ก ๆ ของไตแล้วก็จะไหลลงกรวยไต ท่อไตผ่านลงมาในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นส่วนที่เก็บปัสสาวะไว้ และขับออกทางท่อปัสสาวะในเวลาที่ต้องการ



           นิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะนั้น จะเริ่มเกิดขึ้นที่ไต มีขนาดเป็นผงหรือเม็ดเล็ก ๆ เท่าเม็ดทราย แต่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดออกมาเสียก่อน เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการและ/หรืออาการและ/หรือตรวจพบโดยแพทย์ที่ให้การรักษา แพทย์จะอธิบายให้คนไข้ทราบและเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเรียกตามตำแหน่งที่ตรวจพบก้อนนิ่ว เช่น


นิ่วในไต-ท่อไต

            นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน หมายถึงนิ่งที่ตรวจพบที่ไต และท่อไต ก้อนนิ่วไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม ปกติไม่ใช่ “ตัวโรค ที่ผ่านหรือจู่โจมเข้าไปในตัวเรา แต่ก้อนนิ่วเกิดจากกระบวนการหลายอย่างที่ผิดปกติทางสรีระของการดูดซึมและขับสารบางอย่างออกมาในน้ำปัสสาวะ สารเหล่านี้ได้แก่ แคลเซียม ออกซาเลต ฟอสเฟต กรดยูริก แมกนีเซียม แอมโมเนียม และซีสทีน เป็นต้น ปกติเมื่อปริมาณของสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น จนถึงจุดอิ่มตัวไม่สามารถละลายไปได้หมด ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นผลึกของสารเกลือนั้น ๆ จะเห็นได้ว่าภาวะ หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอิ่มตัวของสารเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับ
         - ปริมาณที่ได้รับจากสารอาหาร 
         - ปฏิกิริยาทางสรีระและเคมีในร่างกาย
         - ชนิดของสาร
         - ภาวะกรดด่างของปัสสาวะ
         - ถ้าปริมาณปัสสาวะน้อยย่อมทำให้สารนั้นมีความเข้มข้นสูงขึ้น
         - ในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคนิ่ว มักจะขาดสารที่ช่วยในการยับยั้งไม่ให้เกิดการรวมตัวของผลึกเหล่านี้ เป็นก้อนใหญ่และเปลี่ยนเป็นก้อนนิ่ว สารยับยั้งนี้ได้แก่ ไพโรฟอสเฟต ซิเทรด เป็นต้น สารยับยั้งเหล่านี้มีความสำคัญดังจะเห็นได้ว่า บางคนมีอัตราขับถ่ายสารผลึกบางชนิดสูง แต่ไม่เป็นนิ่ว ทั้งนี้ก็เพราะในปัสสาวะของคน ๆ นั้นมีสารที่ยับยั้งการเกิดนิ่วนั่นเอง
          - ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งทำให้การไหลของปัสสาวะไม่สะดวก
          - การอักเสบติดเชื้อเรื้อรังก็เป็นสาเหตุทางอ้อม ที่ทำให้มีการจับตัวของผลึกเป็นก้อนนิ่วได้เร็วหรือพอกพูนเป็นก้อนใหญ่ได้เช่นกัน



          ก้อนนิ่วจึงเกิดจากกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าว มิได้เกิดจากการดื่มน้ำบ่อ น้ำบาดาล ที่สงสัยว่าจะมีตะกอนทรายอย่างที่หลายท่านเข้าใจ ตรงกันข้ามน้ำดื่มไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา น้ำฝน น้ำบ่อบาดาล ถ้าเตรียมไว้ถูกต้อง สะอาดพอที่จะใช้ดื่มได้แล้ว ก็สามารถป้องกันการเกิดนิ่วได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนจัด ร่างกายเสียน้ำไปทางเหงื่อ ควรจะมีความเคยชินที่จะดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะในสภาวะเช่นนั้นท่านจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว


อาการของนิ่วในไตและท่อไต

          - ปวดบริเวณบั้นเอวร้าวไปถึงหลัง หรือร้าวลงมาบริเวณขาหนีบ และหน้าขา
          - ปัสสาวะขัดเวลาปวดปัสสาวะ และปัสสาวะอาจมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือเลือด
          - ปัสสาวะขุ่น
          - อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
          - มีไข้ ถ้ามีการอักเสบรุนแรงของไต



การรักษา

           การรักษาขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนนิ่ว
  ผงนิ่วเล็ก ๆ ที่ติดฝังอยู่ในเนื้อไต แพทย์จะให้คำแนะนำและรอดูอาการโดยไม่ทำอะไรให้นิ่วก้อนเล็ก ๆ ขนาดไม่เกินครึ่งเซนติเมตร หรือเท่าหัวไม้ขีด มักจะหลุดได้เอง โดยไม่ต้องทำผ่าตัดแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ยาบางชนิดเพื่อรักษาอาการปวดและขับปัสสาวะทำให้ก้อนนิ่วหลุดได้ง่ายขึ้น ส่วนนิ่วก้อนใหญ่ไม่มีทางหลุดออกได้เอง แพทย์จะแนะนำให้เอาออกโดยอาจจะใช้เครื่องมือหรือทำการผ่าตัด(
shock wave) หรือเครื่องเสียงอัลตราซาวนด์ วิธีการนี้สามารถสลายก้อนนิ่วที่สลายออกเป็นผงจะหลุดลงมาในท่อไต - กระเพาะปัสสาวะและผ่านออกมากับน้ำปัสสาวะ

           ผู้ป่วยควรจะทำความเข้าใจถึงวิธีการ และข้อดีข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งแพทย์จะอธิบายให้ทราบและเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดโดยพิจารณาจาก
     1. ความเหมาะสมของสถานบริการโรงพยาบาล ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร และข้อความ สามารถของแพทย์ผู้ให้การรักษา การผ่าตัดด้วยวิธีทั่ว ๆ ไปเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วและได้ผลดี นอกจากในรายที่มีปัญหามาก ๆ ก็มีระบบบริการส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

     2. ความเหมาะสมที่จะสามารถติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยและให้คำแนะนำได้ถูกต้อง
     3. ความเหมาะสมด้านฐานะเศรษฐกิจของผู้ป่วย ถ้าเลือกใช้วิธีทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ไม่ควรจะให้เป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วย



ข้อแนะนำในการรักษานิ่วในไต และท่อไต
          เมื่อนิ่วมีขนาดไม่ใหญ่และแพทย์ประสงค์จะให้การรักษาโดยให้หลุดออกมาเองในกรณีที่ยังไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด

     1. ควรดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ปัสสาวะออกมาก และลดความเข้มข้นของสารเกลือในปัสสาวะ ป้องกันการอิ่มตัวของสารและการจับเป็นผลึก ควรดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว 200 หรือ 250 ซี.ซี. ทุก 2 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน และถ้าตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืนให้ดื่มน้ำอีก 1-2 แก้ว ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ดื่มควรเป็นน้ำธรรมดา ที่เหลืออาจเป็นเครื่องดื่มอื่น ๆ ตามชอบ แต่ไม่ควรหวานจัด หรือเป็นน้ำชากาแฟแก่

     2. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น กระโดดเชือกหรือวิ่งเหยาะ ๆ ตามสมควร ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดก้อนนิ่วได้ยาก และโดยเฉพาะผู้ที่มีนิ่วในท่อไต นิ่วจะเคลื่อนและหลุดได้ง่ายขึ้น

     3. ควรกินยาตามที่แพทย์สั่งโดยสม่ำเสมอ ถ้านิ่วขนาดพอจะหลุดได้ในขณะถ่ายปัสสาวะให้สังเกตดูด้วยว่ามีนิ่วหลุดออกมากับปัสสาวะหรือไม่ โดยหาภาชนะ เช่น กระโถน หรือถุงพลาสติกรองปัสสาวะไว้ ถ้ามีก้อนนิ่วหลุดออกมาควรนำไปให้แพทย์ ตรวจวิเคราะห์ต่อไป

     4. ถ้าแพทย์พบว่าเกิดโรคนิ่วเนื่องจากโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไขข้อ หรือโรคเกาต์ ซึ่งมีกรดยูริกในเลือดสูง ควรจำกัดอาหารประเภทเนื้อหรือสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์หรือตือฮวน อาจต้องกินยา เช่น อัลโลพูรินอล และ/หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วยตามคำแนะนำแพทย์

     5. ถ้าแพทย์ตรวจพบมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ หรือมีพยาธิสภาพการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น กินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

     6. สมุนไพรพื้นบ้านบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ หรือเปลี่ยนภาวะกรดด่างได้ จึงน่าจะนำมาร่วมในการรักษาทดแทนยาแผนปัจจุบันบางชนิดได้ ได้แก่ หญ้าหนวดแมว ดอกกระเจี๊ยบ เมล็ดฟักทองคั่ว อาจจะนำมาใช้ได้ตามสมควรโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค แต่ท่านควรปฏิบัติในข้ออื่นและฟังคำแนะนำของแพทย์ด้วย

              โดยทั่ว ๆ ไปแล้วในกรณีที่ยังไม่ทราบชนิดของก้อนนิ่วที่เป็นอยู่ ควรยึดสายกลางในการเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ และสร้างสุขนิสัยในการกินอาหาร ไม่จำเจหรือกินอาหารพวกเนื้อสัตว์หรือไขมันมากเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้มีการขับออกของสารแคลเซียม ออกซาเลตและยูริก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วชนิดที่มีแคลเซียมปนอยู่ได้ง่ายจึงควรกินผลไม้ และผักให้มากขึ้น

         การตรวจส่วนประกอบของก้อนนิ่ว เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เป็นนิ่วอีก งานศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลราชวิถี เริ่มให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบของก้อนนิ่ว โดยใช้วิธีปฏิกิริยาทางเคมีมาเป็นเวลานานแล้ว และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้มีโอกาสใช้การวิเคราะห์ด้วยแสงอินฟราเรดซึ่งให้ผลได้แม่นยำกว่าวิธีแรก ส่วนประกอบของนิ่วในไตที่นำมาวิเคราะห์สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
         นิ่วชนิดมีแคลเซียม ได้แก่ แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต หรือปนกันทั้งสองชนิด และนิ่วชนิดที่ไม่มีแคลเซียม ได้แก่ กรดยูริก แมกนีเซียม แอมโมเนียมฟอสเฟต ซีสทีน เป็นต้น นิ่วในก้อนเดียวกันอาจมีส่วนประกอบของผลึกหลายชนิดดังกล่าวนี้ก็ได้
         การตรวจส่วนประกอบของก้อนนิ่วจะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้เกิดนิ่วซ้ำอีก หลังเอานิ่วก้อนเดิม ออกไปแล้ว เพราะผู้ที่เคยเป็นนิ่วจะมีโอกาสเป็นนิ่วได้อีกมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นประมาณ 8 เท่า และมักจะเป็นนิ่วชนิดเดียวกับที่เคยเป็นอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง


          การป้องกันมิให้เป็นนิ่วซ้ำอีก มีวิธีง่าย ๆ คือ ควรรู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นต้นเหตุของการเกิดนิ่ว โดยมีหลักดังนี้
     1. นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต ควรลดอาหารที่มีปริมาณแคลเซียม และออกซาเลตสูงพร้อม ๆ กัน และลดอาหารเค็มจัดหรือวิตามินซีเกินความจำเป็น (ปกติร่างกายต้องการวิตามิน ซี วันละ 400-500 มิลลิกรัม ไม่ควรให้เกินวันละ 1 กรัม เพราะวิตามิน ซี ทำให้มีการดูดซึมของแคลเซียมและมีการสร้างออกซาเลตสูง)
       
     2. นิ่วชนิดกรดยูริกและเกลือยูริก โดยเฉพาอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีกรดยูริกในเลือดสูง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ ควรเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เพราะตับจะเปลี่ยนสารนี้ ให้เป็นกรดยูริก และขับออกทางปัสสาวะ จึงควรงดอาหารที่มีพิวรีนสูง และไม่ควรกินอาหารที่มีพิวรีนปานกลางมากนัก
     3. นิ่วชนิดแคลเซียมฟอสเฟต แมกนีเซียมแอมโมเนียฟอตเฟต มักเกิดจากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ต้องคอยตรวจปัสสาวะและใช้ยาปฏิชีวนะ ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด


 บทสรุป 
     1. นิ่วเป็นปัญหาสาธารณะสุขของชาติ เป็นกันมากในประเทศไทย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของชาติอย่างมาก ปัจจุบัน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะในเด็กลดลง แต่นิ่วในไตของผู้ใหญ่มีอัตราเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาและมาตรการที่ดีในการป้องกัน

     2. การรักษานิ่วในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยมีบาดแผลน้อยลง หรือไม่มีบาดแผลเลย เช่น การใช้เครื่องสลายก้อนนิ้วจากภายนอกให้ป่นเป็นผงแล้วหลุดออกมากับปัสสาวะ แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและเลือกวิธีการที่ถูกต้องตามหลักการรักษา และป้องกันเหมาะสมกับฐานะสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของผู้ป่วย

     3. การวิเคราะห์ส่วนประกอบของก้อนนิ่ว มีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้คำแนะนำผู้ป่วยในการรักษาและป้องกัน โดยที่เมื่อทราบชนิดของนิ่วการแนะนำเรื่องอาหาร เป็นสิ่งที่ควรจะต้องกระทำอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นบันไดขั้นแรกก่อนที่จะให้การรักษาด้วยยาและสิ่งสำคัญคือ เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดด้วย




   อ้างอิงจาก
ข้อมูลสื่อ
File Name : 115-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 115
เดือน-ปี : 11/2531
คอลัมน์ : โรคน่ารู้
นักเขียนรับเชิญ : นพ.ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ


โดย นายนิติกร ชัยวัง ผู้จัดทำ